ปัญหาและความต้องการด้านอนามัยเจริญพันธุ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มหญิงอาชีพพิเศษ : กรณีศึกษา จังหวัดนราธิวาส

จันทรา พรหมน้อย, ประณีต ส่งวัฒนา, เนตรนภา พรหมเทพ, อารีย์ อ่องสว่าง

Abstract


 การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาสุขภาพ การดูแลสุขภาพ ความต้องการการบริการและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของหญิงอาชีพพิเศษ กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นหญิงอาชีพพิเศษทั้งแบบตรงและแบบแฝงจำนวน 19 ราย เจ้าของสถานบริการ จำนวน 12 ราย และผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าหน้าที่คลินิกกามโรคและร้านขายยา จำนวน 15 ราย ซึ่งประกอบอาชีพในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 4 ตุลาคม 2550 โดยการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ตามแนวคำถามที่สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหา
 ผลการศึกษา พบว่า ปัญหาสุขภาพของหญิงอาชีพพิเศษที่พบบ่อย คือ ติดเชื้อในช่องคลอดการอักเสบของมดลูก และทำแท้ง ส่วนใหญ่ดูแลสุขภาพโดยแสวงหาการรักษาด้วยตนเอง เช่น การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาเหน็บ ซื้อยากินเองด้วยความรู้ความเข้าใจในบางเรื่องไม่ถูกต้องมากกว่าปรึกษาบุคลากรสุขภาพ ส่วนการใช้ถุงยางอนามัยมักเป็นไปตามความสัมพันธ์กับผู้รับบริการ การตรวจสุขภาพเป็นไปตามสภาพ ปัญหาสุขภาพและความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการมากกว่าเป็นไปตามการตรวจปกติ สำหรับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1) ด้านการบริการ ได้แก่ ระยะเวลาให้บริการไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิต จำนวนเจ้าหน้าที่และสื่อสุขภาพไม่เพียงพอ 2) ด้านผู้ใช้บริการ ได้แก่ การสื่อสารและขาดสิทธิการรักษาตามกฎหมายการย้ายถิ่นสูง โดยผู้ให้ข้อมูลได้สะท้อนความต้องการในด้านการพัฒนาคุณภาพบริการ ได้แก่ 1) การขยายเวลาให้บริการตรวจ สุขภาพ 2) บริการเชิงรุกในสถานบริการหรือที่พัก 3) เพิ่มสิทธิบริการตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีและครอบคลุมการตั้งครรภ์ การคลอด 4) เพิ่มสิทธิในการรักษาตามกฎหมายครอบคลุมแรงงานต่างด้าว 5) พัฒนาความรู้ความสามารถเฉพาะด้านการตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยปัญหาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ 6) พัฒนาสื่อให้มีความหลากหลายและผสมผสานความรู้เรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
คำสำคัญ : ปัญหาสุขภาพ ความต้องการอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หญิงอาชีพพิเศษ

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.