ประสิทธิภาพคู่มือการให้ความรู้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
Abstract
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพความต้องการพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพแนวทางการให้ความรู้โดยใช้คู่มือการให้ความรู้สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างได้แก่หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่มาฝากครรภ์ที่แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลบางปะกง โดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 30 คน การวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการและแนวทางเกี่ยวกับการให้ความรู้ ระยะที่ 2 การพัฒนาคู่มือการให้ความรู้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นและนำมาหาความตรงตามเนื้อหา ระยะที่ 3 การประเมินประสิทธิภาพคู่มือการให้ความรู้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยคู่มือการให้ความรู้สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น แบบประเมินความรู้ และแบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) สภาพปัญหา ความต้องการและแนวทางเกี่ยวกับการให้ความรู้ พบว่าการให้ความรู้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น ยังไม่มีการจัดการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดการให้ความรู้โดย ใช้คู่มือเพื่อนำไปทบทวนต่อเนื่องที่บ้านได้ 2) คู่มือการให้ความรู้สำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีค่าคะแนนความตรงทางเนื้อหา CVI เท่ากับ 0.80 แปลว่าอยู่ในระดับสูง มีคุณภาพดีเหมาะสมสำหรับนำไปใช้ 3) การประเมินประสิทธิภาพคู่มือการให้ความรู้ พบว่าหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีความรู้เพิ่มมากขึ้นหลังการศึกษาคู่มือด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่งผลให้มารับบริการ มีการดูแลตนเองอย่างมีคุณภาพ และน้ำหนักในสัปดาห์ที่ 28 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ความพึงพอใจในการใช้คู่มือ และความพึงพอใจต่อการนำความรู้และทักษะไปใช้ประโยชน์ได้อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : คู่มือการให้ความรู้ ประสิทธิภาพคู่มือ หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
Refbacks
- There are currently no refbacks.