ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาหลังผ่าตัด ความถี่ของอาการ ความทุกข์ทรมานจากอาการความกลัวการหกล้มและกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

วิภาวรรณ ทองเทียม, ชนกพร จิตปัญญา, ปชาณัฏฐ์ ตันติโกสุม

Abstract


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาหลังผ่าตัด ความถี่ของอาการ ความทุกข์ทรมานจากอาการ และความกลัวการหกล้มกับกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ที่มาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 159 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความถี่ของอาการ แบบสอบถามความทุกข์ทรมานจากอาการ แบบสอบถามความกลัวการหกล้ม และแบบสอบถามการทำกิจกรรมทางกาย ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และหาความเที่ยงจากแบบประเมินได้เท่ากับ .95,.95,.98 และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน

ผลการศึกษาพบว่า 1) การทำกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 42.01 (S.D.=16.11) 2) ระยะเวลาหลังผ่าตัดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.343) 3) ส่วนความถี่ของอาการ ความทุกข์ทรมานจากอาการและความกลัวการหกล้มมีความสัมพันธ์ทางลบกับ

กิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=-.282, -.280 และ -.443) ตามลำดับข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายให้มีความเหมาะสม ช่วยปรับปรุงการพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ภายหลังการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล

คำสำคัญ: อาการ การหกล้ม กิจกรรมทางกาย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.