การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของสตรีวัยทองในตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Abstract
การวิจัยเชิงบรรยายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของสตรีวัยทองในตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีวัยทองที่มีอายุ 40-59 ปี ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่พักอาศัยอยู่ในตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 85 คน เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามลักษณะส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และ 3) แบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งผ่านการทดสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ทดสอบความเที่ยงของแบบสอบถามด้านการรับรู้โอกาสเสี่ยงและพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ด้วยวิธีการคำนวณ หาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าความเที่ยงของแบบสอบถาม การรับรู้โอกาสเสี่ยงเท่ากับ 0.82 และพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงเท่ากับ 0.77 วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัย พบว่า คะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้านการลดปัจจัยเสี่ยงสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านการรับประทานอาหาร ด้านการควบคุมน้ำหนัก ด้านการจัดการความเครียด และด้านการออกกำลังกาย ตามลำดับ การรับรู้โอกาสเสี่ยงไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงโดยรวม แต่มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้านการควบคุมน้ำหนักในระดับต่ำ (r = .23, p < .05)
ผลการวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้สตรีวัยทองมีความตระหนักต่อการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการออกกำลังกาย
คำสำคัญ : การรับรู้โอกาสเสี่ยง พฤติกรรมการป้องกันโรค โรคความดันโลหิตสูง
ผลการวิจัย พบว่า คะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้านการลดปัจจัยเสี่ยงสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านการรับประทานอาหาร ด้านการควบคุมน้ำหนัก ด้านการจัดการความเครียด และด้านการออกกำลังกาย ตามลำดับ การรับรู้โอกาสเสี่ยงไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงโดยรวม แต่มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้านการควบคุมน้ำหนักในระดับต่ำ (r = .23, p < .05)
ผลการวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้สตรีวัยทองมีความตระหนักต่อการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการออกกำลังกาย
คำสำคัญ : การรับรู้โอกาสเสี่ยง พฤติกรรมการป้องกันโรค โรคความดันโลหิตสูง
Refbacks
- There are currently no refbacks.