การถ่ายทอดความรู้อาชีพช่างทองไทยอย่างยั่งยืน

ลาวัลย์ ภักดีลิขิต, พุทธชาติ ชุณสาคร, จุฬารัตน์ วัฒนะ, วราภรณ์ ธาระวานิช

Abstract


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์การถ่ายทอดความรู้อาชีพช่างทองไทย 2) สังเคราะห์แนวทาง การถ่ายทอดความรู้อาชีพช่างทองไทยอย่างยั่งยืน และ 3) ทวนสอบแนวทาง การถ่ายทอดความรู้อาชีพช่างทองไทยอย่างยั่งยืนโดยได้ดำเนินการกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในอาชีพช่างทองโดยเฉพาะ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อความถูกต้อง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และมีความเที่ยงตรงตามเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ สร้างข้อสรุปเชิงพรรณนาโดยพิจารณาจากความสอดคล้องของข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่า การถ่ายทอดความรู้อาชีพช่างทองไทยอย่างยั่งยืนมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านมุมมองด้านการศึกษา ได้แก่ การศึกษาในระบบ ถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ การเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาอาชีพช่างทองไทยการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ภาวะการมีงานทำและการประกอบอาชีพ การศึกษานอกระบบ ถ่ายทอดความรู้ผ่านหลักสูตรระยะสั้น การศึกษาตามอัธยาศัย ถ่ายทอดความรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้อาชีพช่างทองไทย มุมมองด้านสังคมและวัฒนธรรม ถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา พระราชวัง แหล่งเรียนรู้และสถาบันการศึกษา มุมมองด้านเศรษฐกิจ ถ่ายทอดความรู้ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพช่างทองและกลุ่มอาชีพเกี่ยวเนื่อง ช่างทองไทยได้ผ่านการสั่งสมองค์ความรู้มายาวนานจากบรรพบุรุษ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รากฐานภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องอนุรักษ์ สืบสานภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชนและท้องถิ่น ระดับภาคเอกชน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ระดับสถาบันการศึกษา ระดับหน่วยงานภาครัฐกระทรวงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการดำรงอยู่ของอาชีพช่างทองไทยอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ : การถ่ายทอดความรู้ช่างทองไทยความยั่งยืนมรดกทางวัฒนธรรม รากฐานภูมิปัญญา


Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.