ผลของการฝึกโยคะพื้นฐานต่อสมรรถภาพทางกายและความเครียด ของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง

อาภรณ์ ภู่พัทธยากร, ดวงใจ พิชัยรัตน์

Abstract


 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายและความเครียดของผู้ฝึกโยคะพื้นฐานก่อนและหลังการอบรม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฝึกโยคะ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิถีโยคะเพื่อสุขภาพ  จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย  ส่วนกลุ่มควบคุมจับคู่โดยคำนึงถึงความคล้ายคลึงกันในเรื่องสมรรถภาพทางกายและความเครียดก่อนการอบรม  กลุ่มทดลองฝึกโยคะสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 1 ชั่วโมง ระยะเวลา 12 สัปดาห์   รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม   แบบบันทึกสมรรถภาพทางกายและแบบประเมินความเครียดของสวนปรุงชุด 20 ข้อ ซึ่งมีค่าเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.934 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
 ผลการวิจัยสรุปได้  ดังนี้
 1.) สมรรถภาพทางกายของกลุ่มทดลองด้านความจุปอด แรงเหยียดหลัง ความอ่อนตัว ส่วนสูง เส้นรอบเอว การหายใจ ชีพจร แรงบีบมือของกลุ่มทดลอง ก่อนและหลังการฝึกโยคะพื้นฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001, .01 และ.05  ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ยน้ำหนัก ดัชนีมวลกาย  ไขมันในร่างกายและแรงเหยียดขาของกลุ่มทดลอง ก่อนและหลังการฝึกโยคะพื้นฐานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05)
 2.) ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการฝึกโยคะพื้นฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยหลังการฝึกโยคะกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดลดลงกว่าก่อนฝึกโยคะ ( ก่อนฝึก X= 31.27,  หลังฝึก X= 22.6)
 3.) ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดหลังการฝึกโยคะพื้นฐานที่ลดลงของกลุ่มทดลองมีค่ามากกว่ากลุ่มควบ
คุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (d = 4.37,  S.D.d = 8.319, t = 2.875, p< .01)  
 โยคะพื้นฐานช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายและการผ่อนคลายความเครียด ดังนั้นผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการส่งเสริมให้มีการฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
คำสำคัญ : โยคะพื้นฐาน  สมรรถภาพทางกาย  ความเครียด

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.